ชุมชนลูกองค์พ่อจตุคามรามเทพ พระโพธิสัตว์พังพระกาฬชุมชนลูกองค์พ่อจตุคามรามเทพ พระโพธิสัตว์พังพระกาฬ
กันยายน 08, 2024, 10:34:24 AM*

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว:
การค้นหาขั้นสูง  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ  (อ่าน 9512 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Nut
Global Moderator
Jr. Member
*****
กระทู้: 88



อีเมล์
« เมื่อ: มีนาคม 12, 2009, 11:24:44 AM »

ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ
บทนำ

   ผู้รู้จริงย่อมพูดเรื่องเดียวเท่านั้น คือ เรื่องการพาคนไปให้ถึงพระนิพพาน และผู้รู้จริงเท่านั้นจึงรู้ว่า ความรู้ทางโลก เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แม้ชาวโลกเห็นพ้องต้องกันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการดำรงอยู่ของชีวิตนั้น ก็ยังไม่มีความสำคัญมากเท่ากับความรู้เรื่องการดับทุกข์หรือการเข้าถึงพระนิพพาน ฉะนั้น แม้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ทิ้งมรดกทางปัญญาให้ชาวโลกไว้อย่างมากมายมหาศาลเพียงใด ดิฉันก็ไม่ได้มองไอน์สไตน์ในฐานะผู้รู้จริง เพราะไอน์สไตน์ยังไม่ได้เป็นผู้รู้จริง เขาเป็นเพียงนักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบล  ความรู้ด้านฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ได้ไขความลึกลับของธรรมชาติอันเนื่องกับสสารและพลังงานอันคือเนื้อหาของทฤษฎีสัมพัทธภาพ และกลศาสตร์ควอนตัม อันเป็นความรู้ทางฟิสิกส์พื้นฐานที่ได้รับการต่อยอดและพัฒนามาสู่เทคโนโลยี่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ของไอน์สไตน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพาคนไปนิพพานเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์แต่อย่างใด

   ดิฉันได้พูดถึงเรื่องการต่อตัวต่อในหนังสือเรื่องใบไม้กำมือเดียว หากจะเปรียบเทียบกับเรื่องตัวต่อของภาพชีวิตที่สมบูรณ์อันมีตัวเราเป็นส่วนหนึ่งที่กระจิดริดมากของจักรวาลทั้งหมดแล้ว ไอน์สไตน์ก็คือบุคคลหนึ่งที่สามารถต่อตัวต่อกระจุกเล็ก ๆ มุมหนึ่งอันเป็นงานที่เขาสานต่อจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตก่อนหน้าเขา เช่น ไอแซก นิวตัน ไมเคิล ฟาราเดย์ อังตวน ลาวาซิเอ เอิร์นท์ มาค เป็นต้น ซึ่งไอน์สไตน์อาจจะต่อตัวต่อของภาพชีวิตที่เนื่องกับจักรวาลในกระจุกใหญ่เพียงพอที่ทำให้ภาพของมุมนั้น ๆ ชัดเจนมากขึ้น คือสามารถไขกุญแจเข้าไปสู่ความลึกลับของปรากฏการณ์ธรรมชาติของเอกภพโดยเฉพาะเรื่องแสง การเคลื่อนของแสง ของอวกาศและเวลาได้มากขึ้นจนก่อให้เกิดสูตรทางคณิตศาสตร์ e=mc2 ที่ดูเรียบง่ายแต่ซับซ้อน รวมทั้งเปิดเผยคุณภาพทั้งฝ่ายดำสนิท (การผลิตระเบิดปรมณู) และฝ่ายขาวอย่างขุ่นมัว (เทคโนโลยี่ทางวัตถุ)ของธรรมชาติ ซึ่งความรู้เหล่านี้ของไอน์สไตน์ได้เปิดโอกาสให้นักฟิสิกส์รุ่นหลังต่อยอดความรู้ของเขาได้อย่างไม่หยุดยั้งจนกลายเป็นความรู้พื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี่ของทุกวันนี้

   แต่แม้ไอน์สไตน์จะรู้อะไรได้มากมาย อัจฉริยะบุคคลท่านนี้ก็ยังไม่สามารถต่อภาพทั้งหมดของชีวิตที่สัมพันกับจักรวาลได้หมด เพราะเขายังไม่พบ “ตัวต่อตัวสุดท้าย The missing link” ที่สามารถทำให้ภาพทั้งหมดของชีวิตชัดเจนและสมบูรณ์ได้ ความสามารถในการเห็นภาพรวมของชีวิตเพราะสามารถวางตัวต่อตัวสุดท้ายลงได้เป็นความสามารถของผู้รู้จริงเท่านั้นอันมีพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลท่านแรกของโลกที่ต่อภาพทั้งหมดของชีวิตที่ประสานกับจักรวาลได้สำเร็จ

   ฉะนั้น สิ่งที่ชาวโลกโดยเฉพาะผู้คลั่งไคล้บูชาความสำเร็จและความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ต้องตระหนักให้ชัดเจนคือ ไอน์สไตน์ก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยูู่ในขั้นตอนของการแสวงหาสัจธรรมอันสูงสุดเหมือนมนุษย์คนอื่น ๆ อีกมากมาย สัจธรรมอันสูงสุดนี้ ดิฉันได้พูดแล้วว่าเป็นสภาวะเดียวกับพระนิพพาน พระเจ้า เต๋า ต้นไม้แห่งชีวิต หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้   ดิฉันได้ตั้งศัพท์ใหม่ที่รัดกุม และเหมาะกับยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นคือ สภาวะ “ผัสสะบริสุทธิ์ The innocent perception” นั่นเอง


   ในปี ค.ศ. 1954/๒๔๙๗ ไอน์สไตน์ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The Human Side ยอมรับเองว่า คำตอบที่เขาต้องการนั้นอาจจะอยู่ในพุทธศาสนาแล้วก็เป็นได้ เขาพูดว่า   

   
             ศาสนาในอนาคตจะเป็นศาสนาที่เนื่องกับจักรวาล  ควรอยู่เหนือพระเจ้าส่วนตัว หลีกเลี่ยงลัทธิกฏเกณฑ์ที่ไร้ข้อพิสูจน์ ควรครอบคลุมทั้งเรื่องธรรมชาติและจิตวิญญาณ ควรตั้งอยู่บนรากฐานของศาสนาที่เกิดจากประสบการณ์ของทุกสิ่งที่สร้างเอกภาพอันมีความหมาย ซึ่งพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ศาสนาพุทธน่าจะเป็นศาสนาที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของยุคสมัยได้

   การคาดการณ์ของไอน์สไตน์ถูกต้องทีเดียว นี่จึงเป็นคำพูดของไอน์สไตน์ที่ดิฉันพยายามจะช่วยต่อยอดประสานให้พบกับความรู้ของพระพุทธเจ้าให้จงได้ จุดคงที่ของจักรวาลที่ไอน์สไตน์ต้องการหาก่อนทฤษฎีสัมพัทธภาพรวมทั้งทฤษฎีเอกภาพที่เขาแสวงหาอยู่ในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายของชีวิตนั้น ไม่ใช่อะไรอื่น  มันคือสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานนั่นเอง ไอน์สไตน์หาไม่พบ เพราะขาดปััจจัยสำคัญ คือ ไม่ได้พบผู้รู้จริง

   ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ดิฉันไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ แล้วดิฉันจะเอาความรู้ทางฟิสิกส์ที่ไหนมาต่อยอดความรู้ของไอน์สไตน์ได้ คำตอบคือ ดิฉันไม่ได้ต้องการหยิบยื่นความรู้เรื่องฟิสิกส์ให้แก่คุณ  จึงไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดของฟิสิกส์ที่ซับซ้อนเข้าใจยาก  การเห็นภาพทั้งหมดของชีวิต หรือ การรู้สภาวะพระนิพพานคือ การรู้ทิศทางของชีวิตที่จะทำให้คนหมดทุกข์ รู้ว่าความรู้ไหนกำลังช่วยให้คนเดินทางไปถูกทิศหรือผิดทิศ เข้าใกล้หรือห่างไกลจากพระนิพพานมากแค่ไหน ฉะนั้น สิ่งที่ดิฉันจะพูดอันเนื่องกับความคิดของไอน์สไตน์ในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เรื่องฟิสิกส์ที่จะนำมาต่อยอดใช้พัฒนาเทคโนโลยี่ได้ แต่เป็นเรื่องการปรับเข็มทิศชีวิตเท่านั้น   เป็นเรื่องการเบนเข็มทิศชีวิตเพื่อช่วยให้ผู้สนใจงานของไอน์สไตน์มาสนใจเรื่องราวของการหมดทุกข์หรือไปให้ถึงพระนิพพานเท่านั้น 

    ฉะนั้น  ดิฉันจะพูดพาดพิงเพียงความคิดหลักอันเป็นส่วนของโครงสร้างใหญ่เท่านั้น ซึ่งถึงแม้ดิฉันจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้างนิดหน่อย   ก็ยังไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะสิ่งที่ดิฉันต้องการให้คุณมองออกคือ วิธีการเดินสายความคิดของไอน์สไตน์รวมทั้งปัญญาชนโดยทั่วไปนั้น ล้วนเป็นเรื่องการเดินเข้าไปในท่อของความคิดอันเป็นปัญญาฝ่ายโลก ที่ดิฉันเรียกว่า ท่อแห่งความรู้ทางโลก The tube of intellect

    ในส่วนความคิดหลักอันเป็นโครงสร้างใหญ่ของไอน์สไตน์นั้น ถ้าพูดอย่างสรุปก็มีเพียงนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งความรู้ส่วนนี้ดิฉันก็ได้รับจากคุณครูที่สอนวิทยาศาสตร์ในสมัยเรียนชั้นมัธยมซึ่งสอนอย่างสรุปย่อ ๆ เท่านั้นและยังมีหลงเหลืออยู่บ้างในความทรงจำของดิฉันโดยเฉพาะเรื่องรถไฟสองขบวนวิ่งด้วยความเร็วพร้อมกัน นอกจากนั้น ดิฉันมักจะดึงความคิดหลัก ๆ ออกมาจากหนังสือบรรณานุกรมของเยาวชน ซึ่งผู้เขียนมักพูดสรุปความคิดในส่วนที่เป็นโครงสร้างอย่างย่อ ๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ประโยคที่ดิฉันได้พบและนำออกมาใช้อยู่หลายปีแล้วนั้นคือ อะไรคือจุดนิ่งที่สมบูรณ์และเป็นอนันตกาลของจักรวาล What is the absolute ruling point in nature? ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นประโยคที่ช่วยให้เข้าใจความคิดหลักของไอน์สไตน์ได้ง่าย ๆ เมื่ออ่านพบก็รู้ทันทีว่า นี่เป็นประโยคที่ดิฉันสามารถใช้เชื่อมต่อกับความรู้เรื่องนิพพานของพระพุทธเจ้าได้ด้วย จึงใช้มาตลอด
   
            นอกจากนั้น ดิฉันยังให้ความสนใจดูสารคดีทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในปีนี้ โทรทัศน์ของอังกฤษได้ร่วมฉลองการครบรอบร้อยปีของผลงานอันยิ่งใหญ่ของไอน์สไตน์ เป็นปีแห่งฟิสิกส์โลก (World Year of Physics) จึงมีสารคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานทางด้านฟิสิกส์ของอัจฉริยะบุคคลท่านนี้มาก ซึ่งเอื้ออำนวยให้ดิฉันเข้าใจงานของไอน์สไตน์มากขึ้นอีกนิดหน่อย จึงพยายามจับจุดสำคัญที่ช่วยให้ดิฉันสามารถเชื่อมโยงความคิดของนักฟิสิกส์ผู้โด่งดังท่านนี้กับความคิดของพระพุทธเจ้า นี่คือเป้าหมายหลักที่ดิฉันจะพยายามทำให้ดีที่สุด นั่นคือ หยิบยื่นสัจธรรมให้คุณด้วยการเข้าถึงอย่างเป็นกลาง ๆ ที่สุด ห่างจากกรอบประเพณีของศาสนาที่มักมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน

    
            การที่จะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้อย่างถ่องแท้และถึงแก่นของมันนั้น  ผู้อ่านควรต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นความรู้ที่ต่อเนื่องจากหนังสือเล่มก่อน ๆ ของดิฉัน คือ ใบไม้กำมือเดียว คู่มือชีิวิตทั้งสองภาค และ อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน หนังสือทั้ง ๔ เล่มรวมทั้งเล่มนี้ล้วนเป็นผลผลิตจากการปฏิบัติธรรมของดิฉัน จนถึงจุดที่ดิฉันแน่ใจแล้วว่า ประสบการณ์ที่ดิฉันเรียกว่า ผัสสะบริสุทธิ์ เป็นสภาวะเดียวกับ พระนิพพาน หรือ สัจธรรมอันสูงสุด
   
            ฉะนั้น วิธีการนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ของทุกบทในหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นวิธีการใหม่สำหรับปัญญาชนที่ยังไม่ชินกับงานเขียนของดิฉัน นั่นคือ ดิฉันเขียนจาก “ผลมาสู่เหตุ” ไม่ใช่เขียนจาก “เหตุไปสู่ผล” ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ปัญญาชนเคยชินมากกว่า การเขียนจาก “ผลมาสู่เหตุ” นี้ ยังไม่มีอยู่ในสารบบใด ๆ ของความรู้ทางโลก นี่เป็นวิธีการเขียนและการสอนของผู้รู้สัจธรรมอันสูงสุดเท่านั้น
   
             ดิฉันได้อธิบายไว้แล้วในบทที่สองของหนังสือใบไม้กำมือเดียวว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหมายความว่า ท่านได้พบสภาวะหนึ่งที่คนอื่นยังไม่รู้จัก นั่นคือ สภาวะพระนิพพาน และ ท่านก็ทรงทราบอย่างแน่ชัดว่า สภาวะนี้คือ เป้าหมายปลายทางของทุกชีวิต เป็นที่สุดของทุกอย่าง เป็นสภาวะที่ทุกคนต้องไปให้ถึง ฉะนั้น สภาวะพระนิพพานคือ ผล (นิโรธ) ซึ่งดิฉันเปรียบเหมือนการพบสระน้ำอมฤตที่อยู่ในป่า เมื่อใครได้ดื่มแล้ว จะมีชีวิตอมตะ เมื่อพระพุทธเจ้าพบสระน้ำอมฤต ท่านจึงออกจากป่าเพื่อมาบอกทางให้คนทั่วไปได้รู้ทางไปถึงสระน้ำอมฤตนั้น การบอกทางนี้จึงเป็นเหตุ (มรรค) ที่สาวขึ้นไปสู่ผล แต่เป็นผลที่พระพุทธเจ้ารู้ก่อนแล้ว ฉะนั้น การวางขั้นตอนของอริยสัจสี่นั้น ท่านจึงทรงวาง นิโรธ มา่ก่อน องค์มรรค หรือ “ผลมาสู่เหตุ” ด้วยเหตุผลเช่นนี้
   
             ถ้าจะเปรียบเทียบกับการต่อตัวต่อที่พูดเมื่อสักครู่นี้ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าเห็นภาพทั้งหมดของรูปสำเร็จแล้ว จึงสามารถสอนให้คนต่อตัวต่อที่ยังกระจัดกระจายอยู่้ด้วยวิธีการที่เร็วที่สุด เพราะรู้ว่าชิ้นไหนต้องวางตรงไหน จึงเป็นการสอนการต่อตัวต่อแบบ “ผลมาสู่เหตุ” เช่นกัน วิธีการสอนเช่นนี้จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับปัญญาชน เป็นเรื่องที่ปัญญาชนต้องระวังมาก ไม่ควรรีบสรุปหรือตัดสินหนังสือเล่มนี้อย่างง่าย ๆ และรวดเร็วเกินไป  เพียงเพราะสิ่งที่อ่านอาจจะดูขัดกับความรู้สึกและความเข้าใจของตนเอง 
   
   ในหนังสือเรื่อง “อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน” นั้น ดิฉันจำเป็นต้องใช้หนังสือทั้งเล่มนี้อธิบายให้ผู้อ่านยอมรับเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ ให้ยอมรับว่าดิฉันรู้จักสภาวะพระนิพพาน เพราะดิฉันรู้จักสภาวะพระนิพพานนี่เอง ดิฉันจึงสามารถตั้งชื่อพระนิพพานใหม่เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยคือ ผัสสะบริสุทธิ์ หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ตรงนี้แหละ คือ จุดเริ่มต้นของความรู้ทั้งหลายที่ทำให้ดิฉันสามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ด้วยวิธีการสอนแบบ “ผลมาสู่เหตุ” และพระนิพพานอีกเป็นจุดที่ทุกเรื่องต้องมาจบที่ตรงนี้เช่้นกัน
   
             พระนิพพานหรือผัสสะบริสุทธิ์คือ “ผล” ที่ดิฉันได้เห็นแล้ว รู้แล้ว แน่ใจแล้วว่า “ใช่แน่”  จึงนำประเด็นหัวข้อที่ท้าทายของบทต่าง ๆ ขึ้นมาพูด ประสาน และเทียบเคียง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดิฉันได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษไว้ก่อนแล้วในหนังสือเรื่อง Do You Know What A Normal Mind Is? ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่เป็นจุดอ่อนของชาวตะวันตก เช่น การถามคำถามเรื่องการแสวงหาตัวจริงของเราซึ่งดิฉันเอาออกมาจากรายการสนทนาในโทรทัศน์ การตั้งคำถามเรื่อง “จิตใจที่ปกติ” เป็นอย่างไรเพราะได้นั่งรถไปกับลูกศิษย์ที่เป็นโรคจิต ตั้งคำถามว่า “พรมแดนสุดท้ายของจักรวาล” อยู่ที่ไหนเพราะนี่เป็นอิทธิพลของหนังโทรทัศน์เรื่อง Star Trek ที่คนติดตามมาร่วม ๓๐ ปี เป็นวลีที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี
   
             ดิฉันจึงนำคำถามเหล่านี้มาเชื่อมประสานกับเรื่องการแสวงหา “จุดคงที่ของจักรวาล” ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกับความคิดเรื่องสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์  ความคิดเรื่องสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นการเดินสายความคิดที่ใกล้เคียงกับการถามเรื่องพระนิพพานของพระพุทธเจ้ามากที่สุด เพราะถามว่าจุดนิ่งของจักรวาลที่จะเอามาใช้เป็นมาตรฐานการวัดของทุกสิ่้งอยู่ที่ไหน ซึ่งไอน์สไตน์เห็นว่าไม่มี เพราะจักรวาลเคลื่อนตลอดเวลา จึงก่อให้เกิดผลคือ  ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการยอมรับสภาวะอนิจจังของทุกสิ่ง  เป็นสภาวะที่ไอน์สไตน์ได้เดินมาถึงสุดสายป่านของ “การใช้ความคิด” แล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว
   
              ดิฉันจึงช่วยประสานโดยการช่วยขีดเส้นใต้คำถามที่อาจจะยังไม่ชัดเจนให้เขา เพราะเขายังค้นไม่พบ นั่นคือ  จุดคงที่ของจักรวาลคืออะไร อยู่ที่ไหน What is the absolute ruling point in nature? ถึงแม้ไอน์สไตน์ไม่ได้ใช้ คำพูดเช่นนี้ ไม่ได้ถามเช่นนี้ คนรุ่นหลังสรุปให้เขาดังที่ดิฉันเอาออกมาจากหนังสือสารานุกรมภาษาอังกฤษ แต่นี่เป็นคำถามที่จะพาผู้ถามไปสู่เรื่องพระนิพพานซึ่งเป็นนิจจัง เป็นเรื่องคงที่ อันเป็นสภาวะที่ตรงกันข้ามกับอนิจจังหรือสัมพัทธภาพ   
   

              ฉะนั้น ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ดิฉันต้องการช่วยผู้อ่านชาวตะวันตกให้เข้าใจเป้าหมายปลายทางของชีวิตได้ชัดเจนขึ้น คือ แทนที่จะพูดว่า นิพพานเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต ดิฉันพูดใหม่ว่า เป้าหมายชีวิตอยู่ที่การหาตัวจริงของเราให้พบ หรือ เป้าหมายชีวิตอยู่ที่การสามารถเข้าถึงจิตใจที่เป็นปกติ หรือ เป้าหมายชีวิตอยู่ที่การสามารถเข้าถึงจุดปกติหรือจุดคงที่หรือไปถึงพรมแดนสุดท้ายของจักรวาล ซึ่งดิฉันเห็นว่าการพูดเช่นนี้ อธิบายเช่นนี้ จะช่วยปัญญาชนของยุคนี้เข้าใจได้ดีกว่าการพูดว่า “เป้าหมายชีวิตอยู่ที่การไปให้ถึงพระนิพพาน” เพราะคำว่า พระนิพพาน ได้ถูกวัฒนธรรมทางศาสนาปกคลุม บิดเบือนจนคนเข้าใจผิดไปมากแล้ว มักคิดว่าเป็นเรื่องไกลเกินตัว เป็นเรื่องของพระอริยะที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเองเลย หรือไม่ก็เป็นเรื่องของคนตายแล้ว ไม่เกี่ยวกับชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราท่านทั้งหลายที่กำลังดิ้นรนทำมาหากินอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดหมด  นี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ดิฉันจำเป็นต้องสร้างและจับประเด็นเหล่านี้มาชนกัน ประสานกัน  เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเริ่มคิดในร่องทางที่ถูกต้องโดยใช้ภาษาของคนร่วมสมัย และเพื่อพาพวกเขาไปพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นจุดอันติมะที่ “ทุกเรื่อง” อันเกี่ยวข้องกับชีวิต โลก และ จักรวาล จะต้องไปลงที่จุดนั้นหมด
   
   
             ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่า หากผู้อ่านไม่ยอมรับว่า ดิฉันรู้จักสภาวะพระนิพพานอย่างแท้จริงแล้วไซร้ ย่อมต้องมองประเด็นเหล่านั้น เป็นเพียงสมมุติฐานที่ดิฉันตั้งขึ้นมาและพูดเหมาเอาเอง สรุปเองโดยไม่มีหลักฐาน ข้อมูลมาสนับสนุนอย่างเพียงพอ เหมือนจับแพะชนแกะ จะทำให้คุณสับสนและไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่ เพราะสิ่งที่คุณเห็นว่าเป็น “สมมุติฐาน hypothesis ” ของดิฉันนั้น สำหรับดิฉันแล้วมันเป็น “ข้อเท็จจริง fact” ที่ดิฉันได้รู้แล้ว เห็นแล้ว ไม่ใช่เรื่องการคิด จินตนาการอย่างเพ้อฝันเลื่อนลอยแต่อย่างใด
   
             เพราะดิฉันรู้ว่าพระนิพพานคืออะไร ดิฉันจึงสามารถพูดไ้ด้ว่า ตัวจริง ๆ ของเราคืออะไร อยู่ที่ไหน รู้ว่าจิตใจที่ปกติเป็นอย่างไร พรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอยู่ที่ไหน จุดคงที่หรือจุดปกติของจักรวาลอยู่ที่ไหนและเป็นอย่างไร และปัญญาชนกำลังติดอยู่ใน “กล่องความคิด” หรือ “กล่องความรู้ทางโลก” อย่างไร เพราะคำถามเหล่านี้เป็นคำถามเดียวกับคำถามว่า พระนิพพานคืออะไร อยู่ที่ไหนนั่นเอง ซึ่งดิฉันอธิบายคำตอบเรื่องพระนิพพานด้วยคำใหม่คือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ใครรู้จักและสามารถเข้าถึง ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ได้ละก็ คนนั้นก็เข้าถึง พระนิพพานแล้ว เพราะเป็นสภาวะเดียวกัน ซึ่งคำว่า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ผัสสะบริสุทธิ์ เป็นคำวลีที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายกว่าพระนิพพานมากทีเดียว
   
              เพราะดิฉันรู้แล้วว่าพระนิพพานคืออะไร ดิฉันจึงสามารถนำคำเหล่านี้มาเทียบเคียงกับคำว่า พระเจ้า เต๋า ต้นไม้แห่งชีวิต เพื่อช่วยเหลือศาสนิกอื่นให้เข้าใจเป้าหมายของชีวิตและช่วยให้เขาเดินทางไปหาพระเจ้าของเขาได้ด้วยวิธีการของพระพุทธเจ้าคือ การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ซึ่งเป็นเรื่องสากลที่มนุษย์ทุกคนทำได้ ดิฉันจึงสามารถกระจายความรู้ออกมาได้เช่นนี้
   
             จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ ความรู้ทางฟิสิกส์ที่ดิฉันไม่สามารถเข้าใจได้หมดและถ่องแท้ แต่ถึงแม้ความรู้ทางฟิสิกส์ของหนังสือเล่มนี้จะผิดหมด ก็ยังไม่เป็นไร ไม่น่าห่วงมากเท่าการสรุปสภาวะพระนิพพานอย่างผิด ๆ เพราะความรู้ทางโลกทุกอย่างล้วนเป็นความรู้ที่เกิดใน “ท่อความคิด” แม้จะถูกต้องอย่างไรในสายตาของปัญญาชน สำหรับคนที่รู้ว่าสัจธรรมคืออะไรแล้ว มันก็ยัง “คด” อยู่นั่นเอง  แม้ไอน์สไตน์มานั่งเบื้องหน้าดิฉันและอธิบายให้ดิฉันเข้าใจความรู้ของเขาทั้งหมดจนดิฉันเข้าใจแจ่มแจ้งก็ตาม ดิฉันก็ยังจะพูดเหมือนเดิมว่า ไอน์สไตน์ยังไม่ใช่ผู้รู้เห็นสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาลอย่างแท้จริง เพราะผู้รู้สัจธรรมจริงจะพูดเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ พูดชักชวนคนไปนิพพาน
   
              นี่เป็นประโยคที่มีความหมายลึกซึ้งมาก ที่คุณอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตปฏิบัติวิปัสสนา จึงสามารถเข้าใจความหมายของมันได้ หากคุณอ่านเฉย ๆ โดยไม่ปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว คุณจะไม่เข้าใจว่าทำไมดิฉันจึงกล้า “อวดอุตริ” ท้าทายอัจฉริยบุคคลอย่างไอน์สไตน์ และกล้าพูดว่า เขายังไม่ใช่้ผู้รู้จริง ฉะนั้น ก่อนที่ปัญญาชนโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์จะรวมตัวกัน “เหยียบ” ดิฉันเพราะเห็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้แล้วละก็ อย่างน้อยที่สุด คุณต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ผัสสะบริสุทธิ์” หรือ ไม่ก็ “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” ในลักษณะของ “ประสบการณ์ experience” หรือ “สภาวะที่แท้จริง” ที่เกิดในตัวคุณเสียก่อน คุณจึงสามารถวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าคุณไม่มีสภาวะนั้นแล้ว และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ดิฉันเขียน ดิฉันก็ไม่เห็นหนทางที่คุณจะวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร เพราะจะตกอยู่ในรูปลักษณะ “พูดกันคนละเรื่อง” คือ คุณพูดในขณะที่อยู่ในกล่องความคิดหรือท่อความรู้ทางโลกอันมืดมิด (บทที่ ๕) ในขณะที่ดิฉันกำลังพูดจากจุด ก อันเป็นจุดคงที่หรือพรมแดนสุดท้ายของจักรวาล (บทที่ ๔) 
   
              การใช้คำศัพท์ทางธรรมในหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน คนที่ศึกษาพระอภิธรรมคงอยากตำหนิดิฉันเช่นกันว่าใช้คำว่า “จิตใจ” อย่างผิด ๆ คำว่า จิต ในหนังสือเล่มนี้้น่าจะใช้คำว่า เจตสิก จึงจะถูกต้อง เพราะดิฉันรู้แน่ชัดว่าพระนิพพานคืออะไรนี่เอง ดิฉันจึงกล้าใช้คำว่า จิตใจ ในความหมายที่แตกต่างจากพุทธพจน์ ซึ่งดิฉันก็ตระหนักชัดแล้ว แต่ไม่เห็นว่าเป็นความเสียหายแต่อย่างใดเช่นกัน เพราะดิฉันมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้อ่านให้เข้าใจเรื่องการทำงานของจิตใจตนเองชัดขึ้น จึงใช้คำที่ดิฉันเห็นว่าคนอ่านจะเข้าใจได้ง่ายกว่าคำศัพท์ที่ยาก ๆ เช่น เจตสิก ซึ่งคนส่วนมากไม่ชินเท่าคำว่า จิตใจ การใช้คำว่า จิตใจ และแทนมันด้วยคำว่า ทอมกับเจอรี่ เป็นวิธีการใหม่ที่ดิฉันได้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่ถนัดคำศัพท์ยาก ๆ ทางอภิธรรม และดิฉันก็ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หนังสือเล่มก่อน ๆ ของดิฉันแล้ว จึงจะใช้ต่อไป
   
              ขอให้เข้าใจว่า หากพระนิพพานเป็นเป้าหมายปลายทางที่ดิฉันพยายามจะช่วยให้ผู้อ่านไปถึงแล้วละก็ การเดินเรื่องตั้งแต่การตั้งประเด็นจนถึงบทสรุปในแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้ เปรียบเทียบได้เหมือนว่า ดิฉันกำลังวาดแผนที่หยาบ ๆ ให้ผู้อ่าน เหมือนดิฉันคว้า่กระดาษมาแผ่นหนึ่งแล้วก็ลากเส้นแบบหยาบ ๆ พอให้คนอ่านแผนที่รู้ทางไปนิพพาน  หรือไป “ภูกระดึงทางธรรม”
   
              แน่นอน แผนที่หยาบ ๆ ที่ดิฉันลากนี้ย่อมไม่เหมือนแผนที่ฉบับดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าหรือพระไตรปิฎก  แต่ตราบใดที่คนอ่านแผนที่หยาบ ๆ ของดิฉันสามารถเดินตามการบอกทางของดิฉันและสามารถไปถึงภูกระดึงทางธรรมหรือพระนิพพานได้แล้วละก็ ดิฉันเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ก็ได้บรรลุเป้าหมายของมันแล้ว หนทางเข้าสู่กรุงโรมย่อมมีมากกว่าหนึ่งเส้นทาง  ใครจะเดินทางไหนก็ได้ ตราบใดที่ไม่หลงทิศ ขอให้ถึงกรุงโรมเป็นใช้ได้
   
              หากผู้อ่านเข้าใจได้ตามเนื้อหาที่ดิฉันนำเสนอนี้และยอมปฏิบัติสติปัฏฐานสี่หรือพาตัวใจกลับบ้านแล้วละก็ ดิฉันเห็นว่าเพียงพอแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้บรรลุเป้าหมายที่ดิฉันต้องการแล้ว แม้จะสามารถช่วยเหลือคนไทยเพียงคนเดียวให้ยอมปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ก็คุ้มค่าต่อความพยายามของดิฉันมากแล้ว
   
              ปัญหาใหญ่จึงมีเรื่องเดียวเท่านั้นว่า คุณยอมรับในภูมิธรรมของดิฉันหรือไม่ คุณยอมรับหรือไม่ว่า ดิฉันรู้จักสภาวะพระนิพพานและยินยอมให้ดิฉันเป็นผู้นำทางคุณไปนิพพาน ถ้าคุณยอมรับ คุณจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ไม่มากก็น้อย แต่หากคุณยอมรับไม่ได้ว่าผู้หญิงแม่บ้านคนนี้จะรู้จักพระนิพพานได้อย่างไร และไม่เชื่อว่าดิฉันมีภูมิธรรมดังกล่าวแล้ว แม้คุณจะพยายามอย่างไร  คุณก็คงอดไม่ได้ที่จะมีอคติต่อดิฉันอยู่ในใจ และจะไม่ได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้
   
              เพื่อให้ความยุติธรรมทั้งกับดิฉันและตัวคุณเอง ดิฉันเห็นว่า คุณควรอ่านเรื่อง “อวดอุตริมนุสธรรมที่มีในตน” ด้วย หรือไม่ก็มาเข้าอบรมกับดิฉันจนสามารถเข้าบ้านที่สี่ สามารถจับสภาวะของ ผัสสะบริสุทธิ์ หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ได้ ประสบการณ์อันเป็น “ผล” ที่ดิฉันได้พูดถึงนี้เท่านั้น จึงจะช่วยให้คุณเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้ดีขึ้น
   
              ดิฉันได้นำเรื่อง “พาตัวใจกลับบ้านกันเถิด” มาไว้เป็นภาคผนวกเพื่อทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ประสบการณ์ของดิฉันบอกว่า ผู้อ่านท่านใดที่สามารถเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แล้ว ย่อมมีความกระตือรือร้นอยากเร่งรีบปฏิบัติสติปัฏฐานสี่เพื่อให้เห็นสภาวะของผัสสะบริสุทธิ์อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่มีบุญบารมีพร้อม ภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้จึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้ทันที
   
             ดิฉันได้กลับมาอบรมธรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนมกราคม ๒๕๔๙ คุณกฤษฎาพร ชุมสาย ณ อยุธยา คุณสานุพันธุ์ ตันติศิริวัฒน์ และคุณอิสวเรศ ตโนมุท แห่งสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ได้มาร่วมอบรมธรรมกับดิฉันด้วย มีความซาบซึ้งในคำสอนมาก เมื่อทราบถึงจุดประสงค์ของดิฉันที่ต้องการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยผ่านแนวคิดของไอน์สไตน์เช่นนี้แล้ว ทั้งสามท่านจึงปวรณาที่จะช่วยเหลือดิฉันอย่างเต็มที่
   
            ดิฉันจึงใคร่ถือโอกาสนี้ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของบุคคลทั้งสามและทีมงามของสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ทุกท่านที่เข้ามาเป็นแขนขาช่วยเหลือดิฉันในการกวาดต้อนคนหมู่มากให้ออกจากถนนวงแหวนของสังสารวัฏ ซึ่งเป็นการช่วยจรรโลงและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนนานต่อไปตราบนานเท่านาน   
    
ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้คงช่วยให้คุณเข้าใจชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้น
 

ด้วยความเมตตา
ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน
๓๐ มกราคม ๒๕๔๙


โหลดหนังสือได้ ใต้ข้อความนี้ครับ

* thai_eb_ch01.doc (110.5 KB - ดาวน์โหลด 877 ครั้ง.)
* thai_eb_ch02.doc (181 KB - ดาวน์โหลด 813 ครั้ง.)
* thai_eb_ch03.doc (121 KB - ดาวน์โหลด 905 ครั้ง.)
* thai_eb_ch04.doc (114.5 KB - ดาวน์โหลด 802 ครั้ง.)
* thai_eb_ch05.doc (113 KB - ดาวน์โหลด 752 ครั้ง.)
* thai_eb_ch06.doc (127 KB - ดาวน์โหลด 717 ครั้ง.)
* thai_eb_ch07.doc (43 KB - ดาวน์โหลด 704 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 15, 2009, 12:39:07 AM โดย Nut » บันทึกการเข้า

taweesak
Full Member
***
กระทู้: 142


"ปัญหามา ปัญญามี"


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 12, 2009, 04:18:24 PM »

ขอบคุณ ครับ สำหรับ เทียนแห่งปัญญา อีกเล่ม
บันทึกการเข้า
หลานปู่ดู่ ลูกองค์พ่อ
pungprakarn01
Full Member
*****
กระทู้: 227


หลานปู่ดู่ ลูกองค์พ่อ </tr

iamtha_3@hotmail.com
เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: มีนาคม 12, 2009, 06:05:19 PM »

สาธุ.. Grin
บันทึกการเข้า

ใครจะใหญ่เกินกรรม
owner-jk
Hero Member
*****
กระทู้: 517



อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: มีนาคม 14, 2009, 09:29:35 AM »

 Shocked Shocked Shocked
บันทึกการเข้า
tiradej
Full Member
***
กระทู้: 117



อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: มีนาคม 16, 2009, 06:20:17 PM »

ยินดีที่ได้รู้จักครับ

ผมเพิ่งเริ่มอ่าน เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก  Smiley

We are PAD
บันทึกการเข้า
PAT
Full Member
***
กระทู้: 192


084-4506669


« ตอบ #5 เมื่อ: ตุลาคม 17, 2009, 09:46:44 AM »

อ่านสนุกมากครับ
บันทึกการเข้า
นัท ณัฐพล
Newbie
*
กระทู้: 23


nat_evon@hotmail.com
อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: ตุลาคม 18, 2009, 03:28:19 AM »

ชอบครับ

อ่านแล้วเห็นภาพง่ายดี...........

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

B l a c k - R a i n V.2 by C r i p ~ Powered by SMF 1.1.16 | SMF © 2006-2008, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF XHTML | CSS   

หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.189 วินาที กับ 23 คำสั่ง (Pretty URLs adds 0s, 0q)